Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 
 
 
  เรื่องเล่า “อ่าน-ปั่น-ถีบ” ความรู้ไม่สิ้นสุด
  วันที่  14/06/2557
 
 


รายละเอียด
    
เรื่องเล่า “อ่าน-ปั่น-ถีบ” ความรู้ไม่สิ้นสุด เริ่มขึ้นในเช้าวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2557 เวลา 9.00 น. ณ อำเภอเล็ก ๆ ที่มีสายน้ำ ทิวเขา โอบล้อมรอบด้าน นามว่าแจ้ห่ม แห่งเขลางค์นคร หรือลำปาง นั่นเอง ทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ ต่างปั่นรถจักรยานมาร่วม อ่าน-ปั่น-ถีบ ความรู้ไม่สิ้นสุด กับห้องสมุดประชาชน ภายใต้ กศน.อำเภอแจ้ห่ม โดยจุดประสงค์ก็ตามชื่อเรื่อง มีทั้งอ่านไป ปั่น-ถีบไป เพื่อเสาะหาความรู้นั่นเอง โดยจุดออกสตาร์ทเริ่มที่ กศน.หมุดหมายของเราคือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ วัดผาแดงหลวง บ้านหนังสืออัจฉริยะ (บ้านสบฟ้า) ไร่เจมส์การ์เดน ศูนย์เสน่ห์ไม้ และ พิพิธภัณฑสถานโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา โดยได้รับเกียรติจากคุณประภาศรี พยัคฆบุตร นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลแจ้ห่ม มาเป็นประธานในพิธีและปล่อยขบวนจักรยาน เรื่องเล่าของเราจึงก่อเกิดเป็นเรื่องราว ณ บัดนั้น



ขบวนจักรยานค่อย ๆ เคลื่อนจาก กศน.อำเภอแจ้ห่มมุ่งสู่ฐานเรียนรู้แรกที่วัดผาแดงหลวง มีพระครูปัญญาประสุตคุณ (สุพรรณ อินทปญโญ) เจ้าอาวาสรุ่นที่ 13 แห่งวัดผาแดงหลวง ให้การต้อนรับและคอยเติมเต็มความรู้ โดยท่านเล่าถึงประวัติความเป็นมาของวัดผาแดงหลวงให้ฟังว่า คนเฒ่าคนแก่เล่ากันต่อมาว่า วัดผาแดงหลวงสร้างขึ้นโดยพญาคำแดงโอรสพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา โดยพระองค์ได้ส่งช่างหลวงนาม “สล่าคำหลู่” มาสร้างวิหารและแกะสลักนาคตันหรือคันทวย ประดับวิหารด้วย ต่อมาในสมัยพญาคำลือโอรสพญาคำแดง มีความศรัทธาในพุทธศาสนายิ่ง จึงทำนุบำรุงวัดวาอารามหลายแห่งในอำเภอแจ้ห่มรวมถึงวัดผาแดงหลวงให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบมา วัดผาแดงหลวงนับเป็นมรดกอันล้ำค่า เก่าแก่ ที่บรรพชนตกทอดให้ลูกหลานได้สืบสานรากเหง้าตัวตนจากอดีตถึงปัจจุบันได้อย่างดียิ่ง ยืนยันถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนามาอย่างยาวนานของคนแถบนี้ ปัจจุบันวัดผาแดงหลวงยังเป็นศูนย์รวมจิตรใจของผู้คน เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา และใช้จัดกิจกรรมในเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น วันปีใหม่เมือง เป็นต้น



จากวัดผาแดงสู่บ้านหนังสืออัจฉริยะ บ้านสบฟ้า ม.7 ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม บ้านหนังสือที่ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเคยออกรายการเปิดโลกเปิดเล่มทาง Thai PBS เมือปลายปี 2555 สื่อทีวีอย่างช่อง 11 ช่อง 5 ช่อง 9 ก็สนใจและเคยมาถ่ายทำเช่นกัน ทั้งยังเคยลงตีพิมพ์ในนิตยสารหลายเล่ม อาทิ ขวัญเรือน แพรว ฯลฯ นับเป็นบ้านหนังสืออัจฉริยะต้นแบบที่มีชีวิตชีวาที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอแจ้ห่ม โดยคุณพรทิพย์ มีมานะ เจ้าของบ้านหนังสือเล่าถึงความเป็นมาของการทำบ้านหนังสือว่า แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจจัดมุมการอ่านให้กับลูก ๆ ในครอบครัว หวังให้ลูกมีเพื่อนเล่น เด็ก ๆ ในชุมชนก็มาอ่านหนังสือ ฟังนิทาน วาดภาพระบายสีเล่นกันใต้ถุนบ้าน ต่อมามีโครงการนำร่องบ้านหนังสืออัจฉริยะ ชาวบ้านสบฟ้าทำประชาคมเลือกตนเป็นตัวแทนบ้านหนังสืออัจฉริยะประจำหมู่ 7 จึงทำเรื่อยมา การทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านส่งผลให้ลูก ๆ อยากไปโรงเรียนมากขึ้น เพราะมีเพื่อน ที่สำคัญผลการเรียนของลูกออกมาน่าพอใจ ลูกสอบได้ลำดับต้น ๆ ของชั้นแทบทุกเทอม เป็นดอกผลที่น่ายินดีสำหรับการทำงานส่งเสริมการอ่านตลอดมา นอกจากการส่งเสริมการอ่านให้เด็ก ๆ ในชุมชนแล้ว คุณพรทิพย์ยังเป็นนักอ่านตัวโยงอีกด้วย เธอมิได้เพียงอ่าน แล้วก็อ่านเท่านั้น แต่เธออ่านเพื่อนำไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน เธอเล่าว่าครอบครัวสนใจเรื่องสับปะรดมาก จึงหาความรู้จากหลายช่องทาง ทั้งอินเตอร์เน็ต ยืมหนังสือจากห้องสมุดประชาชนมาอ่านศึกษากันอย่างจริงจัง จนตัดสินใจทำสวนสับปะรดราว 1 งาน สำหรับบริโภคในครอบครัว เหลือก็ส่งขายในตลาดเทศบาลสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ว่าแล้วเธอก็นำผลสับปะรดสด ๆ จากสวนมาให้ทุกคนชิม รสชาติหวานฉ่ำอร่อยลิ้น เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การใส่ปุ๋ยน้ำหมักนั่นเอง เธอกล่าวทิ้งท้าย



โจทย์ใหญ่ที่ต้องขบคิดหลังไปเยือนฐานเรียนรู้ บ้านหนังสืออัจฉริยะ บ้านสบฟ้า ก็คือ เราจะทำอย่างไรให้บ้านหนังสืออัจฉริยะในหมู่บ้านอื่น ๆ ทำได้อย่างคุณพรทิพย์ หรือได้สักครึ่งหนึ่งก็ยังดี



เวลายามเที่ยงอากาศเริ่มร้อนแดดแรง จักรยานทุกคันปั่นมุ่งสู่ฐานเรียนรู้ไร่เจมส์การ์เดน เราจับแจงทำภารกิจมื้อเที่ยงกันใต้เงาไม้ร่มรื่นสบายอารมณ์ เป็นห่อข้าวเหนียวน้ำพริกไข่ต้มกับอีกอย่างเหมือนจะเป็นทอดมัน หลายคนบอกว่าอาหารมื้อนี้แสนอร่อย ผู้เขียนเห็นด้วย เราหิว แล้วก็เหนื่อย ใต้เงาไม้ร่มเย็นแห่งไร่เจมส์ฯชูรสอร่อยของอาหารได้ดี เมื่ออิ่มหนำทั่วหน้าแล้ว ลุงเจมส์ หรือนายจักรชัย อภิชาตบุตร ผู้บุกเบิกแนวคิดไร่เจมส์การ์เดน เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ก็เริ่มชวนทุกคนสู่กระบวนการเรียนรู้ด้วยการเดินดูรอบ ๆ สวน ลุงเจมส์ปลูกไผ่หวานซึ่งแตกหน่อให้ได้กินได้ขายตลอดปี ตามสโลแกน “ปลูกไผ่ซางหม่น ไผ่หวาน ไผ่ราชินี 2 กอ ได้กินหน่อตลอดปี” นอกจากปลูกไผ่หวาน ลุงเจมส์ยังปลูกต้นสัก มะนาว มะพร้าว มะม่วง ฯลฯ เรียกได้ว่าปลูกพืชไว้เกือบทุกชนิด มีผลผลิตไว้รับประทานและใช้สอยตลอดปี เหลือก็ขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง โดยลุงเจมส์บอกแก่ผู้เข้าร่วมที่สนใจทำเกษตรพอเพียงว่า ให้อ่านใบความรู้ที่แจกแล้วนำไปปฏิบัติ ผู้ที่อยากได้วิชาเพิ่มเติมสามารถเข้าไปหาความรู้ได้ตลอดโดยไม่หวงวิชาแน่นอน พร้อมกับให้กำลังใจ “ไม่มีใครชี้ชะตาอนาคตเราได้ นอกจากตัวเราเอง” ดังคำคมบนแผ่นป้ายที่ว่า “แม้ความพยายามจะล้มเหลว ขออย่าล้มเหลวในความพยายาม” คำเตือนใจคมชัดที่สุดสำหรับผู้ใฝ่หาความสำเร็จ สูตรที่ลุงเจมส์พิสูจน์มาทั้งชีวิตจนงอกงามเป็นไร่เจมส์การ์เดนอย่างทุกวันนี้



บ่ายคล้อย เมฆสีดำก้อนโตเคลื่อนบดบังแสงตะวัน ฟ้าทำทีจะเทฝนลงมาอยู่รอมร่อ ขบวนจักรยานค่อย ๆ เคลื่อนจากห่างไร่เจมส์การ์เดนสู่ศูนย์เสน่ห์ไม้ และพิพิธภัณฑสถาน โรงเรียนแจ้ห่มวิทยา นับเป็นหมุดหมายสุดท้ายของการ “อ่าน-ปั่น-ถีบ” ครั้งนี้ เราเริ่มจากศูนย์เสน่ห์ไม้ซึ่งตั้งอยู่ถัดจากประตูทางเข้าโรงเรียนแจ้ห่มวิทยา เป็นอาคารเล็ก ๆ ปูพื้นด้วยไม้ ดูแลโดยครูเสกสรร กาวินชัย ท่านพาเราเดินดูชิ้นงานของท่านเองและของเด็กนักเรียน ที่นำเศษไม้มาแกะสลักให้มีความสวยงาม เกิดเป็นชิ้นงานเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มีเสน่ห์ ช่วยเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้เศษไม้เก่าได้อย่างชาญฉลาด การันตีคุณภาพได้จากหลายรางวัลที่ได้รับ อาทิ รางวัลเหรียญทอง Brussels Eureka 2005 จากการจัดงานวันนักประดิษฐ์โลก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้น De Chevalie (อัศวิน) ฐานะนักประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ของราชอาณาจักรเบลเยี่ยม โล่พระราชทานและเข็มทองคำเชิดชูเกียรติ รางวัล คุรุสภา พ.ศ.2551 ฯลฯ นับเป็นการใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า น่าส่งเสริมต่อยอดให้เป็นอาชีพทำเงินส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ เพราะด้วยศักยภาพที่มีน่าทำได้ไม่ยากเย็น



หลังจากชมเสน่ห์ไม้พอหอมปากหอมคอ เราก็มาดูพิพิธภัณฑสถานโรงเรียนแจ้ห่มวิทยาที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ของคนแจ้ห่มสมัยอดีตถึงปัจจุบัน เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกในวิถีการดำรงชีวิตของผู้คน โดยมีครูคงเดช เทพคำปิ๋ว คอยให้ความรู้และตอบข้อซักถาม โดยท่านเล่าว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งในปี 2543 เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 ได้รับเกียรติจาก ดร.กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา มาเป็นประธานเปิด ต่อมาได้รับความอนุเคราะห์จากทางศิลปากร มาช่วยจัดตบแต่งให้เห็นภาพวิถีชีวิตของท้องถิ่นเมืองแจ้ห่ม ก่อให้เกิดการพัฒนา การเรียนรู้อย่างกว้างขวางเรื่อยมา



ฝนลงเมล็ดปะปรายไม่นานก็หยุดลง ทุกคนต่างปั่นรถจักรยานของตนเองแยกย้ายกันกลับบ้าน ภาพวิถีชีวิตของคนแจ้ห่มแต่อดีตถูกปะติปะต่อสู่คนรุ่นปัจจุบัน มีความหวังใจเล็ก ๆ ว่าสิ่งดี ๆ ถูกส่งต่อไปอีกหลายชั่วคน ชาวอำเภอแจ้ห่มจะรักการอ่าน เรียนรู้ไม่สิ้นสุด เพื่อร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไม่ทิ้งรากเหง้าเดิม มีความภาคภูมิใจและเกิดสำนึกรักบ้านเกิด ร่วมใจกันพัฒนาบ้านเมืองตัวเอง และแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ให้เข้มแข็งสามารถตอบสนองชุมชนได้ดียิ่งขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับอนาคตอันท้าทาย เมื่อภูมิภาคนี้กลายเป็นประชาคมอาเซียนเต็มรูปแบบต่อไป

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแจ้ห่ม 136 ม.3 ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โทร./FAX 054-271555