Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player

 
 
 
  ภาคี อ.แจ้ห่ม “ถก” แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการอ่าน...สู่ความยั่งยืน
  วันที่  4/07/2558
 
 


รายละเอียด
    
แจ้ห่ม : เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๑๕ น.ที่ผ่านมา ห้องสมุดประชาชนอำเภอแจ้ห่ม กศน.อำเภอแจ้ห่ม ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต ๓ ศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดลำปาง ส่วนราชการอำเภอแจ้ห่ม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนอำเภอแจ้ห่ม จัดประชุม คณะทำงาน วางยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่านอำเภอแจ้ห่ม เพื่อร่วมกำหนดกรอบทิศทางการดำเนินงานส่งเสริมการอ่านอำเภอแจ้ห่มให้ไปในทิศทางเดียวกัน ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำปาง เขต ๓ มีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า ๓๐ หน่วยงาน



นางสาวอำภรณ์ ช่างเกวียน ผอ.กศน.อำเภอแจ้ห่ม กล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ว่า “เป็นการประชุมตามคำสั่งอำเภอแจ้ห่มที่ ๑๒๖/๒๕๕๘ เพื่อสร้างความเข้าใจคณะทำงาน และเพื่อวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่านอำเภอแจ้ห่ม ให้ก้าวไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นทำงานจากหลายภาคส่วน”



นายวิบูลย์ ทานุชิต ผอ.สพป.ลำปาง เขต ๓ กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมการอ่านที่สอดรับกันในทุกภาคส่วนว่า “นโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศให้เด็ก ป.๑ ทุกคนอ่านออกเขียนได้ภายใน ๑ ปี ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศก่อนหน้านั้นว่า ปี ๒๕๕๘ เป็นปีปลอดนักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเอง ท่านบอกลำปางจะเป็นนครแห่งการอ่าน” โดยพบว่าจากการส่งเสริมการอ่านของภาคีเครือข่ายฯ ที่ผ่านมามีส่วนทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (ผลสอบ O-Net) ของ สพป.ลำปาง เขต ๓ ก้าวกระโดด เคยอยู่ระดับ ๖๘ จากทั้งประเทศ ๑๘๔ เขต มาอยู่ระดับที่ ๑๘ ของประเทศ เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจ เพราะเด็กอยู่กับโรงเรียน ๘ ชั่วโมง ขณะที่เวลาส่วนใหญ่อยู่กับครอบครัว/ชุมชน หากทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนเชื่อว่านิสัยรักการอ่านต้องเกิดขึ้นแน่



พันเอกสันดุษิต ดีบุกคำ หรือ ลุงอ๋อง ทีมงานศูนย์เรียนรู้เพื่อครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดลำปาง ผู้บุกเบิกงานส่งเสริมการอ่านอำเภอแจ้ห่มตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ กล่าวเสริมว่า “สังคมแห่งการอ่านเราออกคำสั่งไม่ได้ ต้องสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านเท่านั้น คือ มีโครงสร้างทางกายภาพที่เอื้อต่อการอ่าน อาทิ มุมหนังสือในชุมชน ห้องสมุดฯ ตลอดถึงนโยบาย ระเบียบ ที่เอื้อต่อการอ่าน มีทรัพยากร จำพวกสื่อ หนังสือที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ตรงตามความต้องการ และมีกลไกขับเคลื่อนระดับพื้นที่คอยกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก” เชื่อว่าหาก



นางพรทิพย์ มีมานะ ตัวแทนผู้ดูแลบ้านหนังสืออัจฉริยะอำเภอแจ้ห่ม กล่าวในมุมมองผู้มีจิตสาธารณะว่า “การส่งเสริมการอ่านต้องเน้นเข้าให้ถึงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยการนำหนังสือไปบริการจุดกิจกรรมของชุมชน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านเสริมสวย ฯลฯ ซึ่งไม่มีงบประมาณก็ทำได้ อาจยืมหนังสือจากโรงเรียน ห้องสมุดฯ นำไปให้บริการ”



แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่สามารถบรรลุแผนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการอ่านอำเภอแจ้ห่มได้ แต่เป็นเวทีจุดประกายให้เกิดการพูดคุยจากหลายภาคส่วน เพื่อมีเวทีกำหนดยุทธศาสตร์การอ่านอำเภอแจ้ห่มให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจริง ๆ ในอนาคต จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งวัด โรงเรียน หมู่บ้าน ส่วนราชการ องค์กรท้องถิ่น องค์กรเอกชน ฯลฯ ภายใต้ต้นทุนที่แจ้ห่มมีอยู่เดิม เชื่อว่าจักสามารถส่องประกายแห่งการอ่านให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในอำเภอแจ้ห่ม และมีผลกระเทือนถึงลำปางนครแห่งการอ่านแน่นอน

ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแจ้ห่ม 136 ม.3 ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โทร./FAX 054-271555