Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.
ID
PWD
กลับหน้าแรก
รู้จักห้องสมุด
ประวัติความเป็นมา
วิสัยทัศน์/พันธกิจ
โครงสร้าง
คณะกรรมการห้องสมุด
บุคลากร
ระเบียบการใช้ห้องสมุด
การจัดหมวดหมู่หนังสือ
นำชมห้องสมุด
ห้องสมุด 3 ดี
กิจกรรมเด่น
ทรัพยากรสารสนเทศ
สารสนเทศห้องสมุด
นานาสาระ
อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน
อสอ.ตำบลแจ้ห่ม
อสอ.ตำบลบ้านสา
อสอ.ตำบลปงดอน
อสอ.ตำบลแม่สุก
อสอ.ตำบลเมืองมาย
อสอ.ตำบลทุ่งผึ้ง
อสอ.ตำบวิเชตนคร
แหล่งเรียนรู้
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
แหล่งท่องเทียวอ.แจ้ห่ม
Webboard
ติอต่อเรา
"พรทิพย์ มีมานะ" คนต้นแบบบ้านหนังสืออัจฉริยะ วันที่ 8/07/2557
รายละเอียด
เที่ยงวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2557 ฉันเพิ่งทำภารกิจมื้อเทียงเสร็จพอดี เก็บถ้วยจานชามแช่น้ำไว้ไม่ทันล้าง เสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น รีบหยิบขึ้นมาจะกดรับก็วางเสียแล้ว เช็คดูเบอร์แล้วกดโทรกลับ...ฮาโหล มีเสียงผู้หญิงตอบกลับ สวัสดี บู ฉันนิ่งนึกเร็ว ๆ ในหัว เจ้าของเสียงนี้ใครกัน แต่แล้วก็ต้องถามออกไป นี่ใครครับ?......นี่ ผอ-ออ.ค่ะ เสียงตอบกลับเน้นคำหนักแน่น ฉันรีบเออ-ออ รับ ครับ...ผอ. ทุกอย่างกระจ่างในเวลาไม่ถึง 5 นาที ความว่าอยากให้ฉันเขียนบทความเกี่ยวกับคุณพรทิพย์ มีมานะ เครือข่ายบ้านหนังสืออัจฉริยะของเรา ซึ่งแกเพิ่งนำสับปะรดปลูกกับมือมาฝากท่าน ผอ.เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (17 พ.ค.2557) ว่ากันว่าความรู้การปลูกสับปะรดได้มาจากการอ่านหนังสือนี่เอง ประเด็นมันอยู่ตรงนี้แหละครับ ฉันตบปากรับคำ จะหาเวลาไปสัมภาษณ์คุณพรทิพย์และครอบครัว พร้อมกับผลิตบทความเอามาลงเว็บห้องสมุดสักเรื่อง
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ณ ที่ทำการชั่วคราวห้องสมุดประชาชนอำเภอแจ้ห่ม ฉันกำลังยุ่งกับหนังสือกองโตบนชั้นวางที่ไร้หมวดหมู่และเต็มไปด้วยฝุ่นผงเกาะเขรอะ หญิงวัยกลางคนนางหนึ่งก็ก้าวเข้ามาหยิบหาหนังสืออ่าน นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้พบกับคุณพรทิพย์ เธออัธยาศัยดีช่างพูดช่างเจรจา แม้เป็นการพบกันครั้งแรกแต่เราก็สนทนากันหลายเรื่อง เรื่องที่จับใจฉันที่สุดก็คงไม่พ้นเรื่องอ่าน ๆ เขียน ๆ เพราะโดยส่วนตัวแล้วก็ชอบแนวนี้อยู่ไม่น้อย จึงทำให้การสนทนาออกรสทีเดียว เธอเล่าเรื่องการทำบ้านหนังสืออัจฉริยะที่บ้านสบฟ้า หมู่ 7 ให้ฉันฟังยาวเหยียด ฟังดูแล้วบ้านหนังสือฯของเธอมีชีวิตชีวาที่สุด ฉันยังมโนภาพเด็ก ๆ มารวมตัวกันที่บ้านหนังสือฯของเธอ นั่งอ่านนิทาน เล่นตุ๊กตา ระบายสีสดใสลงบนแผ่นกระดาษ และมีผู้คนบริเวณนั้นมาอ่านหนังสือในบ้านมากมาย เธอยังเล่าว่าได้เขียนเรื่องราวการทำกิจกรรมในบ้านหนังสือฯส่งไปลงนิตยสารขวัญเรือน พร้อมกับหยิบนิตยสารเล่มนั้นเปิดอวดให้ฉันดูด้วยความภูมิใจ
เรื่องที่ฉันประทับใจสุด ๆ ในการสนทนาครั้งนั้น คือ เรื่องการหายป่วยของชายคนหนึ่ง ความว่า ที่บ้านสบฟ้ามีชายคนหนึ่งตกจากหลังคาบ้านระหว่างก่อสร้าง แขนขาของเขาหักหมด อาการสาหัสมาก หลังจากไปหาหมอมาแล้วก็เดินไม่ได้เลย นอนกองอยู่แต่ในบ้าน คนในครอบครัวและชาวบ้านละแวกเดียวกันต่างลงความเห็นว่า ชายคนนั้นต้องพิการไปตลอดชาติแน่นอน เมื่อเธอรู้ข่าวเหตุการณ์นั้นเข้า เธอคิดว่าน่าจะทำอะไรได้บ้าง เธอพาเด็กตัวเล็ก ๆ หลายคนพร้อมด้วยหนังสือนิทานไปอ่านให้ชายคนนั้นฟังทุกวัน เวลาผ่านไปไม่นานนัก ชายคนนั้นก็หายป่วยและเดินไปไหนมาไหนได้อีกครั้ง ชาวบ้านทุกคนไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะหายกลับมาเดินปกติได้เช่นนั้นเลย ชายคนนั้นเองก็ไม่เชื่อเช่นกัน คุณพรทิพย์เล่าเรื่องนี้ด้วยแว่วตาเปี่ยมสุข บางทีการช่วยเหลือคนก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป แค่เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจ ก็สร้างสิ่งมหัศจรรย์โดยที่เงินไม่อาจหาซื้อมาได้
ฉันแอบตั้งคำถามเล่น ๆ ในใจ หนังสือหรือเด็ก ๆ กันแน่ที่ช่วยรักษาชายคนนั้น ?...
หลังการสนทนาครั้งนั้น ฉันไม่มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะกับคุณพรทิพย์อีก จนเช้าวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2557 หลัง คสช.ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศไทยเป็นวันที่สาม ฉันเดินทางไปบ้านคุณพรทิพย์ พร้อมกับคำถามเต็มหัวเกี่ยวกับเรื่องราวการปลูกสับประรดของครอบครัวนี้ มันเป็นเรื่องราวแสนธรรมดาแทบไม่น่าสนใจอะไร เพราะคนแถบนี้ปลูกสับประรดกันถ้วนหน้า ประเด็นน่าสนใจดังเกริ่นไว้ต้นเรื่อง มันเป็นดอกผลของการอ่านล้วน ๆ ครับ
คุณพรทิพย์เล่าว่า แรกทีเดียวไปยืมหนังสือห้องสมุดประชาชนมาอ่าน ทั้งการเพาะเห็ด การปลูกสับปะรด ฯลฯ น้องใหม่ลูกชายคนโตก็ว่า แม่ทำไมเราไม่ปลูกสับปะรดไว้กิน ก็เลยสนใจอ่านหนังสือการปลูกสับปะรดอย่างจริงจังขึ้นมา ทั้งสามีและตัวเธอเองช่วยกันหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตควบคู่ไปด้วย จนตัดสินใจเข้าไปขอคำปรึกษาจากคนบ้านสา แหล่งปลูกสับปะรดของอำเภอแจ้ห่ม ไปดูสวนสับปะรด ขอคำแนะนำการปลูกถึงบ้านเลย ตอนนั้นซื้อกล้าพันธุ์เขามา 1,500 ต้น ราคาต้นละ 1 บาท เป็นพันธุ์สายน้ำผึ้ง พอจะปลูกจริง ๆ ก็จ้างเจ้าของกล้าพันธุ์มาช่วยปลูกด้วย ระหว่างนั้นก็ปรึกษาเรื่องการดูแล ระยะเวลาเก็บเกี่ยว เขาก็ให้คำปรึกษาดีมาก ปีแรกที่ปลูกผลผลิตก็ออกมาดี แต่รสชาติไม่ค่อยหวานเท่าที่ควร พอมาปีที่สอง เริ่มเอาน้ำหมักชีวภาพที่ทำเองมารด ปรากฏว่าสับปะรดหัวใหญ่รสชาติหวานมากกว่าปีก่อน
บ้านสบฟ้าจะมีวัตถุดิบสำหรับทำน้ำหมักเยอะ เพราะชาวบ้านปลูกฟังทองเมล็ดพันธุ์ เขาจะเอาแต่เมล็ดฟังทองส่งขายบริษัท ส่วนอื่น ๆ ก็ทิ้ง เห็นแล้วคิดว่าน่าจะเอามาทำน้ำหมักชีวภาพได้ ก็เลยเข้าไปปรึกษาครูเบญ (เบญญาภา คำปันศรี ครู กศน.ตำบล) ขอสูตรการทำน้ำหมักจาก กศน.อำเภอแจ้ห่ม พอทำแล้วก็เอามาแบ่งให้ชาวบ้านใช้รดพืชผักในสวน ส่วนตัวใช้รดสวนสับปะรดและสมุนไพรหลังบ้าน ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนเริ่มทำน้ำหมักใช้เองบ้างแล้ว
ด.ช.พอเพียง มีมานะ หรือ น้องใหม่ เสริมว่า สับปะรดมันหวานไม่ใช่เพราะใส่ปุ๋ยน้ำหมักอย่างเดียว ใหม่อ่านหนังสือให้ฟังบ่อย ๆ มันจึงหวานและหัวใหญ่ เป็นยังไง ใครมีสวนสับปะรดลองวิธีของน้องใหม่ดูบ้างก็ได้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ
ด้วยความที่ครอบครัวชอบกินสับปะรด จึงปลูกเป็นปีที่สองแล้ว เนื้อที่ประมาณ 1 งาน ตั้งใจปลูกไว้กินกันในครอบครัว เหลือก็นำไปขายตลาดเช้าบ้านสบฟ้าและตลาดเทศบาลบ้างเป็นครั้งคราว พอมีรายได้จุนเจือครอบครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ น้องใหม่ก็ออกไอเดีย ตั้งชื่อสวนเป็นสวนพอเพียง แต่ยังไม่ได้ทำป้ายอะไรให้เลย
นอกจากเรื่องสับปะรดเราสนทนาถึงบ้านหนังสืออัจฉริยะที่คุณพรทิพย์ทำอยู่ในปัจจุบันด้วย เธอเล่าว่าทำบ้านหนังสืออัจฉริยะเข้าปีที่ 2 แล้ว ก่อนหน้านั้นทำมุมอ่านหนังสือให้ลูก ๆ อยู่แล้ว โดยเป็นไอเดียของน้องใหม่ เขาจะมีไอเดียเยอะมาก และแม่ก็เป็นคนทำตามไอเดียตลอด พอทำมุมการอ่านที่บ้าน เด็ก ๆ จากในหมู่บ้านก็มาอ่านหนังสือ มาทำกิจกรรม เช่น วาดภาพระบายสี ทำเสร็จก็เอาผลงานของเขาติดโชว์ไว้ใต้ถุนบ้าน เด็ก ๆ จะภูมิใจมากเมื่อได้เห็นผลงานของตนเอง
ตอนยังไม่เป็นบ้านหนังสืออัจฉริยะ ก็ให้บริการนิตยสารขวัญเรือน เพราะโดยส่วนตัวชอบอ่านขวัญเรือนและมีสะสมไว้มาก พอได้รับคัดเลือกจากชาวบ้านเป็นบ้านหนังสือฯ ทาง กศน.ได้สนับสนุนหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร อาทิ ไทยรัฐ คมชัดลึก ขวัญเรือ และ คู่สร้าง&คู่สม ทำให้มีหนังสือหลากหลายมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านเข้ามาใช้บริการมากขึ้นตามไปด้วย บางครั้งเอาหนังสือพิมพ์ไปให้คนเฒ่าคนแก่ที่เดินไม่ได้อ่านถึงบ้าน บางคนขอเราอ่านให้เขาฟัง แถมยังบอกอีกว่า อ่านหนังสือให้ฟังอย่างเดียวไม่ได้นะ ต้องนวดให้ด้วย (หัวเราะ) พอไปอ่านให้ฟังบ่อย ๆ บางครั้งไม่ว่างไปหลายวันเข้า เขาก็ถามหา ทำไมไม่มาอ่านหนังสือให้ฟังเลย เราก็ว่าช่วงนี้ไม่ค่อยว่าง เขาก็เข้าใจ
ตลอดเวลาที่ทำงานตรงนี้เพราะใจรักส่วนหนึ่ง และทำด้วยจิตอาสา ที่สำคัญ คือ เมื่อเห็นแว่วตาของเด็ก ๆ เวลามาขอให้ทำโน้นทำนี่ให้แล้ว ไม่อาจปฏิเสธได้ เมื่อทำสิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการเขาก็สนใจมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น ผู้ปกครองในหมู่บ้านก็ตามลูกหลานมาด้วย นั่นคือผลพลอยได้ที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าใช้พลังของเด็กตัวเล็ก ๆ ดึงผู้ปกครองให้เข้ามาร่วมอ่านหนังสือด้วยก็คงจะไม่ผิดนัก
ที่ผ่านมาสามารถทำให้ผู้สูงอายุและเด็กหันมาอ่านหนังสือกันมากทีเดียว จากที่กลุ่มเด็กเอาแต่ไปนั่นเล่นเกม กลุ่มผู้สูงอายุก็อยู่กันเงียบเหงา เพราะลูกหลานไปทำงานในกรุงเทพหมด การมีกิจกรรมให้ทำร่วมกันช่วยคลายความเหงาในบั้นปลายชีวิตได้บ้าง อย่างช่วง 2 เมษาที่ผ่านมา เขาก็ชื่นชม กศน.ที่มาจัดกิจกรรมให้ คนเฒ่าคนแก่ได้ตัดตง เขาชอบมาก บอกไม่เคยมีแบบนี้มาก่อนเลย เทศบาลเคยจัดกิจกรรม แต่เขาจัดในเทศบาล ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าไปร่วมได้
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการทำบ้านหนังสือฯ ที่เห็นได้ชัดคืน ลูก ๆ อยากไปโรงเรียนมากขึ้น อยากไปเจอเพื่อน ๆ ผลการเรียนก็ดีขึ้น โดยเฉพาะน้องใหม่ สอบได้ลำดับต้น ๆ ของชั้นเรียน เพราะรักการอ่าน ปัจจุบันน้องใหม่สนใจจะเล่นอูดูเลเล่ จึงซื้อให้ตัวหนึ่ง ราคา 800 บาท เห็นลูกสนใจก็ส่งเสริม เธอกล่าวทิ้งท้าย
เมื่อถามน้องใหม่ว่าอ่านหนังสือแล้วได้อะไร น้องใหม่ตอบว่า อ่านหนังสือแล้วกินข้าวอร่อย มีเพื่อนเยอะ
คุณละ!.....เคยถามตัวเองหรือไม่ อ่านหนังสือแล้วได้อะไร?....
ท่ามกลางสถานการณ์การอ่านของคนไทยที่ยังวิกฤต แนวทางของบ้านหนังสืออัจฉริยะบ้านสบฟ้า อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการส่งเสริมการอ่านในหลาย ๆ พื้นที่ ประเด็นคือเราจะสร้างคนอย่าง คุณพรทิพย์ มีมานะ ในชุมชนอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะปี 2558 บ้านหนังสืออัจฉริยะจะขยายเต็มพื้นที่อำเภอแจ้ห่ม 64 หมู่บ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพรทิพย์ในหมู่บ้านอื่น ๆ นั่นคือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายให้ขบคิดกันอย่างจริงจัง
หน้าหลัก
|
รู้จักห้องสมุด
|
กิจกรรมเด่น
|
แนะนำทรัพยากรห้องสมุด
|
สารสนเทศห้องสมุด
|
นานาสาระ
|
ติดต่อเรา
ห้องสมุดประชาชนอำเภอแจ้ห่ม
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแจ้ห่ม 136 ม.3 ต.แจ้ห่ม อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โทร./FAX 054-271555